การใช้งานเกียร์อัตโนมัติ ระหว่างการจอดรอสัญญาณไฟเขียว หรือรอเคลื่อนตัวเมื่อมีการจราจรติดขัด ต้องจอดนานในช่วงเช้า หรือช่วงเลิกงานตอนเย็น มีความคิดเห็นแตกต่างออกไปจากเหล่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญชำนาญการเรื่องของเกียร์ แนวคิดของการใช้งานเกียร์อัตโนมัติที่แปลกแยกแตกต่างไปจากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญในวงการรถยนต์กลายเป็นผิดไปหมดทั้งๆ ที่ความเป็นจริงสามารถกระทำได้ เกียร์ออโต้ที่ออกแบบให้เลื่อนเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ได้นั้น เมื่อติดไฟแดงนานๆ ส่วนใหญ่ มีการแนะนำให้เหยียบเบรกคาเกียร์ D เอาไว้ จนกว่ารถคันข้างหน้าจะเคลื่อนตัว หากติดไฟแดงไม่นานก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดการติดนานเกินเหตุ เช่น ข้างหน้ามีอุบัติเหตุจนขวางช่องทางจราจร หรือฝนตกน้ำท่วมขังทำรถติดทั้งเมือง การใช้เท้าขวาเหยียบเบรกยัดเกียร์ D หรือเกียร์ขับเคลื่อนเอาไว้นาน จะทำให้เกิดความเมื่อยล้า ปวดขา ตามมาด้วยความเครียดในการควบคุมรถยนต์
แรงดันในระบบเกียร์อัตโนมัติ เมื่อเลื่อนคันเกียร์จาก N ไปที่ตำแหน่ง D จะเกิดแรงดันขึ้นเพื่อดันของเหลว หรือน้ำมันเกียร์ ให้มีการไหลเวียนเพื่อหล่อลื่นการทำงาน การเลื่อนคันเกียร์บ่อยๆ จะทำให้เกียร์สึกหรอโดยใช่เหตุ!! ช่างหรือผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จึงแนะนำวิธีการใช้งานเกียร์ออโต้ โดยมักจะบอกกันว่าตั้งแต่สตาร์ตเครื่องยนต์ใส่เกียร์ D ขับออกจากบ้าน เมื่อเจอสภาพจราจรที่ติดขัดไม่ว่าจะสาหัสสากรรจ์ขนาดไหน ก็ไม่ควรเปลี่ยนเกียร์เลื่อนไปเลื่อนมาระหว่าง D และ N ให้เหยียบเบรกเอาไว้พร้อมกับคาเกียร์ในตำแหน่ง D ตลอดเวลา แม้รถจะติดนานจนเมื่อยขา เพราะต้องเหยียบแป้นเบรกยาวนานเกินไป แทนที่เกียร์จะพังกลับเป็นความเมื่อยที่ทำให้ปวดขา เกจิในวงการบางท่านหรือนักเลงรถเจ้าของอู่ที่เชี่ยวชาญในด้านระบบส่งกำลังต่างออกมาบอกกันว่า ทอร์ค คอนเวอร์เตอร์ ในเกียร์อัตโนมัติจะหยุดส่งถ่ายแรงดันเมื่อผู้ขับขี่เข้าเกียร์ว่างหรือเกียร์ N และหากเลื่อนคันเกียร์ไปที่ตำแหน่งขับเคลื่อนหรือ D เพื่อขับเคลื่อน แรงดันจากระบบเกียร์จะทำงานต่อทันทีที่เข้าเกียร์ D ทำให้ภายในระบบเกียร์และวาล์วภายในมีแรงดันไม่ต่ำกว่า 2-5 บาร์ สำหรับให้กำลังในการออกตัว หากทำแบบนั้นบ่อยๆ จะทำให้เกียร์สึกหรอซึ่งพิสูจน์กันแล้วว่าไม่จริงเสมอไป